"นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ อาชีพใหม่เพิ่มโอกาสรอดให้ผู้ประสบอุบัติเหตุ" รีวิวสาขาวิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน : U-Review
อันที่จริงแล้วนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ (Paramedic) นั้นมีมานานแล้วในต่างประเทศ โดยหน้าที่ และลักษณะงานของนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ หลักๆ ก็คือ การช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินในระดับสูงที่สุดในระบบ EMS (Emergency Medical System) โดยจะสามารถให้การช่วยเหลือผู้ป่วยในระดับขั้นสูง (Advance Life Support : ALS) ได้ทั้งบนรถกู้ชีพ และจุดเกิดเหตุ (pre-hospital care) นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ สามารถให้การรักษาคนไข้โดยให้น้ำเกลือ, ให้ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ, การช่วยฟื้นคืนชีพ, ให้การกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า, การขนย้ายผู้บาดเจ็บทางอากาศยาน, การจัดการภาวะอุบัติเหตุหมู่, การดูแลผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ โดยทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การอำนวยการของแพทย์อำนวยการ (Medical Director)
สำหรับประเทศไทยเองอาชีพนี้เพิ่งมีมาได้ไม่นาน และจุดเริ่มต้นของการแพทย์ฉุกเฉินที่มีคุณภาพ เริ่มต้นขึ้นที่ห้องฉุกเฉิน เรามีห้องฉุกเฉินที่มีคุณภาพ และแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินที่มีคุณภาพ แต่สิ่งสำคัญที่เรายังขาดแครนอยู่ก็คืออาชีพนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ที่จะออกไปดูแลคนไข้ในจุดเกิดเหตุได้อย่างมีคุณภาพ
ด้วยการนี้เองจึงเกิดเป็นหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ PARAMEDIC ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ ใช้ระยะเวลาในการศึกษาทั้งหมด 4 ปี จัดให้มีการศึกษาเรียนรู้ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยในปีนี้ ( 2559 ) เปิดรับเป็นปีที่ 2 ซึ่งถือว่ายังใหม่มาก และเป็นหลักสูตรเดียวในประเทศไทยที่มีการเรียนการสอนโดยอาจารย์แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉินและอาจารย์แพทย์เฉพาะทางสาขาต่าง ๆ ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ในส่วนของการเรียนการสอน น้องๆ จะได้เรียนวิชาศึกษาทั่วไป เช่น เคมีทั่วไป คณิตศาสตร์และสถิติศาสตร์ ชีววิทยา ภาษาอังกฤษ กายวิภาคศาสตร์ขั้นพื้นฐานตั้งแต่ในชั้นปีที่ 1 พอชั้นปีที่ 2 จะเป็นการเรียนวิชาศึกษาทั่วไปผนวก วิชาพื้นฐานทางวิชาชีพ เช่น ชีวเคมีทั่วไป เภสัชวิทยาขั้นพื้นฐาน เวชศาสตร์ระดับเซลล์ ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน การซักประวัติและตรวจร่างกาย เป็นต้น จนกระทั้งเมื่อน้องอยู่ชั้นปีที่ 3 การเรียนจะเน้นไปที่วิชาในกลุ่มวิชาชีพ เช่น การดูแลผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บฉุกเฉิน การช่วยฟื้นคืนชีพ หัตถการทางการแพทย์ การแปลผลคลื่นไฟฟ้าหัวใจ นิติเวชศาสตร์ เป็นต้น และเมื่อดำเนินมาถึงชั้นปีสุดท้าย น้องๆ ถึงจะได้เรียนวิชาในกลุ่มวิชาชีพ และการฝึกปฏิบัติงานจริง เช่น การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินในสาธารณภัย และฝึกปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์
สำหรับน้องๆ ที่สนใจอยากเข้าศึกษาต่อในสาขาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ น้องๆ จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ เป็นผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรเวชกิจฉุกเฉิน (หลักสูตร 2 ปี) หรือผู้สำเร็จการศึกษาระดับชั้น ม.ปลาย สายวิทย์-คณิต เท่านั้น หากน้องๆ คนไหนผ่านหลักเกณฑ์ดังกล่าว เรามาดูกันว่ารูปแบบการรับสมัคร 3 รูปแบบที่มีเป้นอย่างไรบ้าง
แบบที่ 1 ระบบรับตรงโดยคณะ (สอบตรง)
- รับสมัครผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรเวชกิจฉุกเฉิน (หลักสูตร 2 ปี) หรือผู้สำเร็จการศึกษาระดับชั้น ม.ปลาย สายวิทย์-คณิต หรือผู้ที่กำลังศึกษาชั้น ม.6 สายวิทย์-คณิต รวมทั้งสิ้น 17 คน
- ผู้สมัครในกลุ่มนี้ จะต้อง "สอบวัดความรู้" เกี่ยวกับพื้นฐานทางปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์, กฎหมายและจริยธรรมทางปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์, ความรู้พื้นฐานด้านภาษาอังกฤษ
แบบที่ 2 ระบบมหิดลรับตรง 2559
- รับสมัครนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 3 คน
- ผู้สมัครในกลุ่มนี้จะต้องดำเนินการสมัครตามระบบของทางมหาวิทยาลัยมหิดล
แบบที่ 3 ระบบแอดมิชชั่น
- รับสมัครผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตามหลักสูตรแกนกลาง / หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 10 คน
- ผู้สมัครในกลุ่มนี้จะต้องดำเนินการสมัครตามระบบกลางคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (Admission) ประมาณช่วงเดือนพฤษภาคม
- ผู้สมัครจะต้องสอบข้อสอบรับตรงร่วมของ สทศ. (GAT/PAT และ O-NET) โดยสัดส่วนคะแนนเป็นไปตามที่คณะ / สกอ.กำหนด
เรียกได้ว่ากว่าที่จะมาเป็นนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์นั้นไม่ง่ายเลย ต้องผ่านทั้งการเรียนที่แสนยาก และการฝึกปฏิบัติจริงแสนโหด แต่นั้นก็เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นมืออาชีพ และเตรียมบุคลากรเพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทย นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์จะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากที่จะช่วยชีวิตของผู้ประสบอุบัติเหตุ และผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยการทำงานเชิงรุก เข้าถึงพื้นที่ และทำการกู้ชีพได้ในสถานที่เกิดเหตุนั้นเลย