วิศวกรรมการผลิต เรียนรู้การออกแบบและเทคโนโลยีเครื่องจักรกลอัตโนมัติจากญี่ปุ่น และการบริหารจัดการสไตล์ญี่ปุ่น พร้อมแข่งขันในระดับโลก
ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และวิศวกรรม ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรรมยานยนต์ วิศวกรรมรถไฟ หรือวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และยังเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ ตลาดงานภาคการผลิตส่วนใหญ่จึงเกิดขึ้นจากโรงงานเหล่านี้เอง การเรียนรู้การทำงานอันเกี่ยวข้องกับเครื่องมือ และวัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากอยากจะประสบความสำเร็จในการทำงาน
สาขาวิศวกรรมการผลิต (Production Engineering : PE) คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีไทย – ญี่ปุ่น (TNI) เป็นสาขาที่ต้องการตอบโจทย์ของอุตสาหกรรมภาคการผลิต ทั้งชิ้นส่วนรถยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีทักษะในการทำงานกับอุปกรณ์ในโรงงาน สามารถทำงานได้ในทุกส่วนของการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบ และสามารถบริหารจัดการโรงงานได้เป็นอย่างดี
จุดเด่นที่ทำให้การเรียนในสาขาวิศวกรรมการผลิต (PE) สถาบันเทคโนโลยีไทย – ญี่ปุ่น (TNI) แตกต่างจากการเรียนวิศวกรรมในที่อื่นๆ คือสถาบันฯ จะโฟกัสไปที่อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะ อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือกับบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่ง นักศึกษาจึงจะได้เรียนองค์ความรู้ วิธีการทำงาน กระบวนการ และวิธีคิดจากประเทศญี่ปุ่นโดยตรง ได้ทำงานกับเครื่องมือที่เป็นแบบเดียวกันกับที่ใช้กันในโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีการเน้นเรื่องการบริหาร การจัดการ ทั้งการจัดการด้านการเงิน และการผลิต ทำให้นักศึกษาที่จบออกไปสามารถทำงานด้านเทคโนโลยีการผลิต เช่นชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ และด้านการบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี และยังมีโอกาสที่จะก้าวไปเป็นผู้จัดการ หรือผู้บริหารได้เร็วขึ้น ซึ่ง ดร.วิโรช ทัศนะ ประธานหลักสูตรวิศวกรรมการผลิต (PE) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “การจะเป็นผู้จัดการ หรือผู้บริหารที่ดี คือต้องรอบรู้ทักษะในวิชาชีพที่ตัวเองทำอยู่ และมีวิสัยทัศน์ในการบริหารงานจะรู้แต่เพียงทฤษฎีอย่างเดียวไม่ได้””
การเรียนการสอนในสาขาจึงเน้นไปที่การบริหารจัดการ ควบคู่ไปกับการเรียนที่ให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติงานจริง “เราไม่อยากให้เด็กเรียนรู้เฉพาะในห้องเรียนอย่างเดียว แต่เราจะพาเด็กไปเรียนรู้ในสถานประกอบการจริงด้วย” ดร.วิโรช กล่าว สิ่งแรกที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้ คือการเรียนรู้พื้นฐานฟิสิกส์ แคลคูลัส การเรียนในวิชาเขียนแบบวิศวกรรม (Engineering Drawing) และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการออกแบบผลิตภัณฑ์ นักศึกษาจึงไม่ใช่แค่ทำงานเป็น แต่ยังต้องคิดเป็น วางแผนเป็น และพร้อมสู่การเป็นนักสร้างนวัตกรรมด้วย เมื่อเข้าสู่ช่วงปีที่ 3 นักศึกษาจะได้เรียนเทคโนโลยีการผลิตด้วยเครื่องจักรกลอัตโนมัติ การออกแบบแม่พิมพ์ การทำงานของเครื่องจักรอัตโนมัติ วิศวกรรมควบคุมอัตโนมัติ และการจัดการอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การฝึกสหกิจศึกษา และการทำโครงงานในชั้นปีที่ 4 ภาคการศึกษาที่ 1 เป็นระยะเวลา 4 เดือน และมีโอกาสไปฝึกงาน และศึกษาดูงานทั้งในประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่นที่นักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีไทย - ญี่ปุ่น มักได้มีโอกาสได้รับเข้าทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นเลยทันทีที่จบการศึกษา นอกจากนี้ยังมีการเรียนภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่ 3 นักศึกษาที่จบออกไปจึงสามารถไปทำงานกับสถานประกอบการญี่ปุ่นทั้งในประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่นได้
ในการเรียนภาคปฏิบัติทางสถาบันฯ มีห้องปฏิบัติการพร้อมอุปกรณ์ เครื่องจักร และซอฟแวร์ที่ทันสมัยทั้งจัดซื้อมา และได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งใน และต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ซึ่งครบครันตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบผลิตภัณฑ์ ไปจนกระทั่งขั้นตอนสุดท้ายของการผลิต ที่สำคัญยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่มีความสนใจในเรื่องนี้เข้ามามีส่วนร่วมทำวิจัยกับภาคอุตสาหกรรมด้วย โดยการเข้ามาศึกษาต่อระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในสถาบันเทคโนโลยีไทย – ญี่ปุ่น จะเปิดรับสมัครนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า ในสายวิทย์ – คณิต หรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมเท่านั้น การสอบเข้าจะสอบในวิชา ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ซึ่งสถาบันฯ เปิดรับนักศึกษาใหม่ ประเภทต่างๆดังนี้
1. ประเภทโควตาโรงเรียน เปิดรับสมัครระหว่างเดือน กรกฎาคม - กันยายน (สำหรับผู้ที่มีเกรดเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไป)
2. ประเภทสอบตรง-ชิงทุนการศึกษา 50 ทุน ในช่วงระหว่างเดือน กรกฎาคม - พฤศจิกายน และสถาบันฯ เปิดรับสมัครสอบตรงรอบที่ 2 สำหรับนักเรียนที่พลาดโอกาสในการสมัครสอบตรงรอบแรก โดยมีกำหนดเปิดรับสมัครในระหว่างช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี
3. ประเภทยื่นคะแนน GAT / PAT (Admission ตรง) ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี
สอบถามได้ที่ศูนย์รับสมัครนักศึกษา โทร.02-763-2601-5 หรือ www.facebook.com/TNIadmissioncenter/ หรือ eng.tni.ac.th และ www.tni.ac.th
ดร.วิโรช ได้กล่าวปิดท้ายเกี่ยวกับการเรียนในสาขาวิศวกรรมการผลิตอย่างน่าสนใจไว้ว่า “การเรียนการสอนวิศวกรรมการผลิตเราต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีวัสดุใหม่ๆ เข้ามา วิธีการผลิตก็ต้องเปลี่ยน กระบวนการผลิตก็ต้องเปลี่ยน การจัดการการผลิตก็ต้องเปลี่ยน ดังนั้นเราจึงต้องเรียนรู้ทั้งทฤษฎี และปฎิบัติอยู่ตลอดเวลา เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง”