U-Review

“หมอยา ที่ต้องเป็นมากกว่าแค่ คนจ่ายยา” รีวิวคณะเภสัชศาสตร์ : U-Review


ถ้าพูดถึงเรียน เภสัชศาสตร์ น้องๆ อาจคุ้นเคยว่าเรียนจบมาแล้วจะต้องเป็น เภสัชกร ในร้ายขายยาเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วเภสัชกรสามารถทำงานได้หลายสาขา เช่น เป็นเภสัชกรในโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน เป็นนักวิจัย ฝ่ายควบคุมคุณภาพ หรือพัฒนาและผลิตภัณฑ์ในโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตยา เครื่องสำอาง อาหารเสริมสุขภาพ อาหารทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร รวมไปถึงประกอบธุรกิจส่วนตัว เช่น เปิดร้านขายยา เป็นตัวแทนจำหน่ายยา เป็นต้น

 
UploadImage

" ยา เป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่มีผลโดยตรงต่อชีวิตคนทุกคนบนโลก...ต้องตั้งใจ มีวินัย และมีความรับผิดชอบ "
ผศ.ดร.วิชาญ จันทร์วิทยานุชิต คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
 

และสิ่งที่น้องๆ หลายคนอาจจะพอรู้อยู่แล้วว่าเภสัชศาสตร์ เป็นการเรียนเกี่ยวกับเรื่อง “ ยา ” เพราะฉะนั้น สิ่งที่น้องๆ จะได้เรียนรู้เมื่อเข้ามาเรียนในสาขานี้ จึงมีตั้งแต่ แหล่งที่มาของยา การศึกษาค้นคว้าวิจัย จนกระทั่งได้มาเป็นวัตถุดิบหรือส่วนผสมยา การนำวัตถุดิบหรือส่วนผสมเหล่านั้นไปผลิตเป็นยาสำเร็จรูปต่างๆ ทั้งแบบน้ำ แบบเม็ด หรือยาฉีด รวมถึงการเรียนรู้กระบวนการควบคุมคุณภาพระหว่างการผลิต เพื่อให้สามารถนำไปใช้รักษาโรคได้จริงและมีความปลอดภัยตามมาตรฐาน และอีกเรื่องที่สำคัญมากไม่แพ้กัน นั่นคือ การนำยาไปใช้กับผู้ป่วยแต่ละประเภท น้องๆ จะต้องรู้ว่าควรใช้ยาตัวไหนกับผู้ป่วยอาการแบบใด มีผลข้างเคียงอย่างไร จะให้คำแนะนำให้กับผู้ป่วยหรือจะติดตามผลการรักษาได้อย่างไร รวมทั้งเรื่องของการประกอบธุรกิจยา และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาก็จะต้องได้เรียนรู้ไปด้วย



จากรายละเอียดการเรียนที่กล่าวมานั้น ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่น้องๆ จะต้องได้เรียนรู้เมื่อเข้ามาเป็นนักศึกษา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งที่นี่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับนักศึกษาทั้งทางด้านวิชาการและวิชาชีวิต โดยหลักสูตร 6 ปี ของคณะเภสัชศาสตร์ จะมีรายละเอียดการเรียนในแต่ละชั้นปีซึ่งน้องๆ หลายคนที่อยากเป็นเภสัชกรต้องสนใจ ดังต่อไปนี้


 UploadImage

“ สร้างความเข้มแข็งให้นักศึกษาทั้งวิชาการและวิชาชีวิต " 
ผศ. ศิรประภา ทับทิม รองคณะบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
 


ในปีที่ 1 น้องๆ จะได้เรียนวิชาพื้นฐาน เช่น สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์  วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ภาษา พอขึ้นปี 2 ก็จะเรียนวิชาพื้นฐานที่เกี่ยวกับเภสัชศาสตร์มากขึ้น จากนั้นในชั้นปีที่ 3 น้องๆ จะเริ่มเรียนในห้องปฏิบัติการซึ่งเน้นการผลิตและควบคุมคุณภาพยา
 ส่วนในชั้นปีที่ 4 นักศึกษาจะได้เลือกสายวิชาเรียนเฉพาะ 2 ด้าน นั่นคือ วิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม และ เภสัชผลิตภัณฑ์ นอกจากนั้นน้องๆ ก็จะได้เรียนลึกในเรื่องของกลไกการออกฤทธิ์ของยาแต่ละประเภท รวมไปถึงการใช้ยาทางคลินิก หรือการใช้ยารักษาโรคต่างๆ นั่นเอง



ในปีที่ 5 นอกจากการเรียนในห้องปฏิบัติการแล้ว น้องๆ นักศึกษาก็จะได้ออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียนตามสถานที่ประกอบการจริงต่างๆ และในชั้นปีที่ 6 นักศึกษาก็จะได้แยกออกไปฝึกงานในสถานประกอบการต่างๆ ตามสายวิชาที่ตัวเองสนใจ เช่น น้องๆ ที่มีใจรักการบริการ ชอบทำงานกับคน หรือชุมชน ก็เลือกสายบริบาลทางเภสัชกรรม ก็ไปฝึกงานในโรงพยาบาล หรือร้านขายยา ส่วนใครชอบคิดค้นวิจัย ก็เลือกไปสายอุตสาหกรรมหรือเภสัชผลิตภัณฑ์ ออกไปฝึกงานในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตยาหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการเลือกสายวิชาที่ดีก็จะช่วยส่งเสริมให้น้องๆ ประสบความสำเร็จในการทำงานและใช้ชีวิตตามที่หวังและตั้งใจได้

 
 
 

รีวิวหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง

Ph.D. (Logistics and Supply Chain Management) ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยบูรพา

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ...

Ds.D. (Doctor of Music course) ดุริยางคศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันดนตรีที่สมบูรณ์แบบที่สุดแห่งแรกของประเทศไทย ...

M.Sc. (Cyber Security and Information Assurance) วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาความมั่นคงไซเบอร์และการประกันสารสนเทศ (นานาชาติ) มหาวิทยาลัยมหิดล

ในปี 2558 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล ...