"เราช่วยเขา เพื่อให้เขาช่วยตัวเองได้" รีวิวคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม : U-Review
การเป็น นักสังคมสงเคราะห์ นั้น จะต้องทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่มีความหลากหลาย เปราะบาง มีความเสี่ยง และประสบกับความยากลำบาก อย่างเช่น ผู้ป่วยจิตเวช เด็กและสตรีที่ถูกกระทำความรุนแรง ผู้พิการ ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ รวมทั้งผู้ประสบสาธารณภัย เยาวชนในสถานพินิจ คนไร้สัญชาติ รวมไปถึงผู้ต้องขังในเรือนจำ เพราะฉะนั้นนักสังคมสงเคราะห์จึงต้องเป็นผู้ที่มีเทคนิควิธีการทำงานหลากหลายและมีทักษะที่จำเป็นในการช่วยแก้ไขปัญหา รวมทั้งทำหน้าที่ประสานไปยังแหล่งทรัพยากรหรือศูนย์ช่วยเหลือต่างๆ เพื่อส่งต่อ และแนะนำแนวทางให้กับบุคคลเหล่านั้นได้นำไปปฏิบัติและสามารถใช้ชีวิตร่วมกับสังคมได้อย่างปกติสุขต่อไป
สำหรับน้องๆ คนไหนที่มีความสนใจ มีใจรักอยากจะช่วยเหลือผู้อื่นอย่างมืออาชีพ และต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของคนรวมทั้งสังคมในทางที่ดีขึ้น แน่นอนว่า คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ที่ถือเป็น 1 ในมหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่แห่งที่เปิดสอนสาขานี้โดยตรง ยินดีต้อนรับน้องๆ ทุกคนที่มีใจมุ่งมั่น อยากพัฒนาทักษะและทัศนคติที่ดีเพื่อทำงานเป็น นักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ ในอนาคต
“ ต้องทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่มีความเปราะบาง มีความเสี่ยง และประสบกับความยากลำบาก ดังนั้น นักสังคมสงเคราะห์จะต้องเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังให้เป็น ฟังด้วยใจ และฟังอย่างไม่ตัดสิน ”
อ. นุชนาฎ ยูฮันเงาะ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
โดยการเรียนการสอนของทางคณะฯ จะเน้นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งน้องๆ จะได้ออกไปฝึกประสบการณ์จริงถึง 3 ครั้งสำหรับการเรียนในปี 1 นักศึกษาจะได้เรียนรายวิชาพื้นฐานที่จะช่วยปรับมุมมองและเพิ่มความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับงานสังคมสงเคราะห์ รวมทั้งเรียนวิชาพื้นฐานที่จะนำไปต่อยอดในชั้นปีที่สูงขึ้น จากนั้นในชั้นปีที่ 2 น้องๆ จะได้เรียนรายวิชาเฉพาะทางสังคมสงเคราะห์กลุ่ม ได้รับรู้ถึงวิธีการทำงานในแต่ละกระบวนการที่จะต้องนำไปใช้ในวิชาชีพโดยจะแบ่งสายการเรียนทางสังคมสงเคราะห์ออกเป็น 4 ด้าน หลักๆ ได้แก่ ครอบครัวและเด็ก การแพทย์ สาธารณภัย และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งในปีนี้ น้องๆ จะได้เรียนการทำสัมมนาและมีโอกาสไปฝึกงานเป็นระยะเวลา 2 เดือนหลังจากเรียนจบชั้นปีที่ 2
เมื่อนักศึกษากลับมาเรียนในชั้นปีที่ 3 ก็จะมีองค์ความรู้ที่ชัดเจนในแต่ละด้าน และสามารถรู้ว่าตัวเองมีความถนัดหรือความสนใจทางด้านไหน ก็จะได้เรียนเจาะลึกเฉพาะไปในด้านนั้นๆ รวมทั้งจะมีการเรียนรายวิชาสังคมสงเคราะห์ชุมชนและกระบวนการศึกษาวิจัยทางสังคมศาสตร์ เพื่อเตรียมพร้อมในการทำงานร่วมกับชุมชนต่อไป และสุดท้ายในชั้นปีที่ 4 น้องๆ นักศึกษาก็จะได้ออกไปฝึกงานร่วมกับกับชุมชนอีกครั้ง โดยจะใช้ชีวิตเป็นบุตรในครอบครัวอุปถัมภ์ เป็นระยะเวลา 2 เดือน เพื่อเรียนรู้สถานการณ์จริงและช่วยให้มีความเข้าใจในกระบวนการจัดการและการช่วยเหลือผู้คนในกรณีต่างๆ มากยิ่งขึ้น
" สาขาสำหรับน้องๆ ที่มีใจอยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และสามารถทำเป็นอาชีพได้ "
อ. นวลใย วัฒนกูล คณบดีคณะสังคมศาสตร์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
งานสังคมสงเคราะห์ ถือเป็นอาชีพที่ดีสำหรับผู้ที่รักในคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เมื่อเรียนจบนักศึกษาทุกคนจะเป็นนักจัดการทางสังคม และได้ชื่อว่าเป็น นักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ ที่พร้อมจะทำหน้าที่คุ้มครอง ช่วยเหลือ และพัฒนากลุ่มผู้มีความเปราะบางทางสังคมให้มีศักยภาพที่จะช่วยเหลือตัวเองได้อย่างยั่งยืนและไม่เป็นภาระแก่สังคม โดยทางคณะฯ มีศิษย์เก่าที่เรียนจบไปทำงานมีตำแหน่งเป็นนักสังคมสงเคราะห์อยู่ทั้งในกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม โรงพยาบาล รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่นทั่วประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน
นอกจากนี้ สาขาสังคมสงเคราะห์ ถือเป็นการเรียนในสหวิทยาการที่ครอบคลุมทั้งวิชาเศรษฐศาสตร์ การศึกษา สังคมวิทยา การแพทย์ ปรัชญา การเมือง และจิตวิทยา ซึ่งบัณฑิตสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในด้านเหล่านี้ประกอบอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้หลากหลาย เช่น ผู้ประสานงานโครงการ นักวิจัย ครู เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน นักพัฒนาทรัพยากรบุคคล อาชีพอิสระด้านบริการปรึกษา และการจัดการรายกรณีของผู้ประสบปัญหาทางสังคมต่างๆ