"วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เด็กวิทย์ยุคใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม" รีวิวสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม : U-Review
ความเจริญของสังคมและเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้เกิดมลพิษที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีผู้ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของเรื่องวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมขึ้น วันนี้ได้รับเกียรติจากท่าน ผศ.ดร.ดิเรกฤทธิ์ บัวเวช หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาพูดคุยถึงแนวทางภาควิชาและการเดินทางของนักศึกษาที่จะต้องเตรียมตัวเข้าสู่คณะนี้อย่างไรบ้าง
วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมคืออะไร?
ขอเกริ่นก่อนว่าในปัจจุบันใบประกอบวิชาชีพมีมากมายหลากหลายวิชาชีพ รวมไปถึงสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมก็เช่นกัน ซึ่งในปีการศึกษา 2560 ทางภาควิชาของเราได้ทำการปรับหลักสูตรให้สามารถสอบใบประกอบวิชาชีพได้หลากหลายสาขาวิชามากขึ้น ซึ่งในตัวเอกสิ่งแวดล้อมนั้นจะประกอบไปด้วยมลพิษหลายๆ ด้าน คือ มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ มลพิษทางเสียงและการสั่นสะเทือน ขยะและของเสียอันตราย ซึ่งในปัจจุบันการจะทำโครงการอะไรก็ตาม จะต้องมีการทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ฉะนั้นเด็กที่จะจบจากสาขานี้จึงต้องสอบใบประกอบวิชาชีพดังกล่าวตามสายงานที่จะทำ ยกตัวอย่างเช่น เกี่ยวกับมลพิษทางน้ำ ก็จะเรียนเรื่องการบำบัดน้ำเสียทั้งทางชีวภาพและกายภาพ มีวิชาเลือกเกี่ยวข้องอาจจะเป็นวิชาออกแบบระบบบำบัด วิชาตรวจวัดคุณภาพน้ำ ให้นักศึกษาลงเรียนให้ครบ 6 หน่วยกิต แล้วนำไปสอบใบประกอบวิชาชีพได้เลยโดยไม่ต้องฝึกอบรม ซึ่งสามารถสอบกี่ใบก็ได้ตามที่ตัวนักศึกษาเองมีความสามารถที่จะเรียนได้ เพื่อที่นำไปใช้ในการทำงานต่อในอนาคต เพราะเมื่อเด็กที่เรียนวิทยาศาสตร์ด้านอื่นมา จะไม่สามารถสอบใบประกอบวิชาชีพโดยไม่ฝึกอบรบได้ ทำให้วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมมีข้อได้เปรียบกว่าวิทยาศาสตร์ด้านอื่นในส่วนนี้ครับ
รูปแบบและสัดส่วนการรับเข้าศึกษาต่อ
มีทั้งรูปแบบของโครงการรับตรงต่างๆ และระบบ Admission กลาง ส่วนรอบหลังของปี 2559 นี้ไม่มีการเปิดรับสมัครแต่อย่างใดครับ แต่ในปีถัดไปถ้าน้องๆ คนไหนที่สนใจ ให้เตรียมตัวรอประกาศจากทางมหาวิทยาลัยและภาควิชาว่าจะออกมาในช่วงไหนอีกทีครับ ส่วนเรื่องสัดส่วนการรับเข้าศึกษาต่อของภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมปกติแล้ว จะอยู่ที่ประมาณ 75 คน จากระบบ Admission ประมาณ 50 คน และโควต้าพิเศษจากจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันตก 28 จังหวัด อีกประมาณ 20 คน ส่วนที่เหลือก็จะเป็นโครงการร่วมพิเศษ ซึ่งจะต้องใช้คะแนน GAT PAT แต่ค่าเทอมจะสูงกว่าสองโครงการข้างต้น ส่วนน้องคนไหนที่เล่นกีฬาเก่งๆ จะมีโครงการนักกีฬา ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะประกาศรับสมัครในทุกๆปีอยู่แล้วก็สามารถเข้ามาในโครงการนี่แล้วเลือกเรียนสาขาของเราได้เหมือนกัน โดยสาขาวิชาของเราจะเรียนที่วิทยาเขตสนามจันทร์ตลอดทั้ง 4 ปีเลย
คุณสมบัติที่เหมาะสมกับวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
ลักษณะนิสัยของวิชาชีพนี้ ค่อนข้างไม่ได้นั่งอยู่เฉยๆ ในห้องปฏิบัติการ แต่จะออกลุยในภาคสนามเป็นส่วนใหญ่ พูดง่ายๆ คือต้องเป็นคนอดทน ทนต่อมลภาวะ บางครั้งอาจจะต้องออกไปเก็บตัวอย่างเพื่อนำกลับมาวิเคราะห์ หรืออาจจะเป็นงานด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ก็จะต้องออกไปทำงานนอกสนามต่างๆ ส่วนใหญ่เด็กต้องเป็นคนที่ขยันขันแข็ง ชื้นชอบเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย
ขั้นตอนการฝึกงานก่อนจะออกไปสู่โลกของการทำงานจริง
ช่วงรายวิชาฝึกงานของทางภาควิชาก็จะอยู่ในช่วงซัมเมอร์ ส่วนใหญ่ทางภาควิชาก็จะหาหน่วยงานราชการ บริษัท โรงงานต่างๆ ขึ้นอยู่กับว่าเด็กของเราจะสนใจในด้านใด เราก็จะส่งเด็กไปฝึกงานในส่วนนั้น เพื่อที่จะเพิ่มพูลความรู้และประสบการณ์ เด็กของเราหลายคนพอไปฝึกงานตามหน่วยงานต่างๆ บางครั้งก็สามารถที่จะได้งานทำเลยก็มีครับ
เส้นทางของบัณฑิตวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจะเป็นอย่างไร
ต้องบอกก่อนเลยว่าบัณฑิตที่จบไปจากภาควิชาของเราจะไม่ตกงานแน่นอน เพราะว่าพิสัยของงานจะกว้างมาก จะมีทั้งหน่วยงานของรัฐบาลอย่าง สำนักงานโยบายแผนสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ และกรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม หรือเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย ถ้าเกิดว่าเด็กไม่เลือกงานไม่มีทางตกงานแน่นอน เพราะในปัจจุบันทุกคนก็คำนึกถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่วิกฤษมากแล้ว ก็ย่อมจะมีหน่วยงานต่างๆ ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับงานพวกนี้อยู่เสมอ
ขอบคุณข้อมูลจาก : รายการ OPEN HOUSE ONAIR www.curadio.chula.ac.th
ขอบคุณภาพประกอบจาก : http://www.sc.su.ac.th/Department.php และ https://www.sritranggroup.com/