"จะเป็นอย่างไรเมื่อเอาหลักสูตรวิศวฯ บวกกับหลักสูตรธุรกิจ" รีวิวสาขาวิศวกรรมการจัดการธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับระบบรางและสาขาธุรกิจยานยนต์ : U-Review
ในขณะที่โลกยังคงเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ แต่การเรียนวิศวกรรมส่วนใหญ่ยังคงติดอยู่กับการเรียนในรูปแบบเดิมๆ ขาดการประยุคใช้ และการพัฒนาให้เกิดสาขาใหม่ๆ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งมีแนวคิดที่ต้องการผนวกวิศวกรรมกับธุรกิจเข้าไว้ด้วยกัน และต้องการให้นักศึกษามีทางเลือกที่มากกว่า จึงสร้างหลักสูตรขึ้นมาใหม่เป็นสาขาวิศวกรรมการจัดการธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับระบบราง และสาขาธุรกิจยานยนต์
สาขาวิศวกรรมการจัดการธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับระบบราง
แนวคิดของสาขานี้เกิดขึ้นจากการดูประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง เราจะเห็นได้ว่าในประเทศญี่ปุ่นบริเวณโดยรอบสถานีรถไฟจะมีร้านค้า มีบริการ เป็นศูนย์กลางธุรกิจ และศูนย์กลางที่อยู่อาศัย ดังนั้นนักศึกษาที่เรียนในสาขานอกจากจะได้เรียนรู้เรื่องของระบบรางแล้ว นักศึกษาจะต้องได้เรียนรู้เรื่องผังเมือง ต้องวางผังเมืองบริเวณรอบสถานีรถไฟได้ สามารถวางแผนการพัฒนาพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงธุรกิจ บริการ และที่อยู่อาศัยเอาไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ยังต้องสามารถบริหารจัดการเรื่องการขนส่งผ่านระบบรางให้ได้ด้วย ฉะนั้นเมื่อเรียนจบไปแล้วนักศึกษาจึงมีทางเลือกมากกว่า สามารถเลือกเป็นได้ทั้งวิศวกรในบริษัทต่างๆ หรือเป็นผู้ประกอบการเองก็ได้
ในเรื่องของความร่วมมือมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเป่ยจิงเจียวทง มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการขนส่งในประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้คิดค้นและวิจัยเทคโนโลยี นวัตกรรมการขนส่ง กับวิทยาลัยหลี่โจว ที่เป็นการเรียนอาชีวะ ซึ่งจะเป็นผู้ผลิตนวัตกรรมให้ โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยสามารถส่งนักศึกษาไปฝึกงานสหกิจศึกษาได้ทั้งสองที่
เมือพูดถึงโอกาสในการทำงาน รศ. ดร.วันชัย รัตนวงษ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “อย่าลืมว่าเมื่อจีนเข้ามาสร้างระบบรางในประเทศไทย จะมีคนเข้ามาทำงานถึง 3 หมื่นคน ซึ่งต้องดูแลระบบราง แล้วถ้าเขากลับไปใครจะเป็นคนดูแลระบบตัวนี้ต่อ ผมเห็นว่ามันเป็นความรู้ใหม่ และผมกรันตรีได้ว่าเด็กที่จบสาขานี้จะมีงานทำแน่นอน”
สาขาธุรกิจยานยนต์
รศ. ดร.วันชัย กล่าวถึงสาขาธุรกิจยานยนต์ไว้ว่า “ถ้าเราทำเหมือนภาครัฐที่เน้นดีไซน์รถยนต์ สุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่กับบริษัทที่ญี่ปุ่นอยู่ดี” สาขานี้จึงมีแนวคิดที่ต้องการดูแลธุรกิจยานยนต์ตั้งแต่ต้นทางการผลิตไปจนถึงปลายทาง ตั้งแต่การนำความรู้ด้านการจัดการโลจิสติกส์มาดูแลอะไหร่จำนวนมหาศาล การบริหารจัดการโชว์รูม การตกแต่งรถยนต์ การซ่อมบำรุง หรือแม้แต่ธุรกิจรถมือสอง หรือการรีไซเคิล
อีทั้งยังมีความร่วมมือกับบริษัท โตโยต้า ประเทศไทย ซึ้งจะเข้ามาดูแลการเรียนการสอนในภาคปฏิบัติ และมีห้องแลปให้นักศึกษาได้ใช้งานด้วย
ในส่วนของอาชีพนั้นนอกจากจะเป็นช่างเทคนิค สิ่งที่สาขาต้องการคือทำให้นักศึกษาสามารถเป็นผู้ประกอบการ และให้นักศึกษาเรียนภาษาญี่ปุ่นเพิ่มด้วย ซึ่งจะสร้างความได้เปรียบด้านการทำงานกับเจ้าของธุรกิจรถยนต์ส่วนใหญ่ในประเทศไทยที่เป็นบริษัทญี่ปุ่น
เราจะเห็นได้ว่าทั้งสองสาขาซึ่งเป็นผลผลิตจากแนวคิดหมาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการพัฒนาให้นักศึกษาจบออกไปแล้วสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้ด้วยตนเอง สามารถทำงานได้ในหลากหลายธุรกิจ และรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้เป็นอย่างดี