“ฝ่าหมู่เมฆสู่ฝัน สรรสร้างความปลอดภัย” สาขาวิชาความปลอดภัยการบิน : U-Review
“ความปลอดภัย” ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการเดินทางแต่ละครั้ง แต่จะดีแค่ไหน ถ้าเราเองได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความปลอดภัยทั้งแก่ตนเอง และแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะการรักษาความปลอดภัยทางด้านการบินผ่านเส้นทางหมู่ก้อนเมฆ ที่เด็กๆ หลายคน มักจะใฝ่ฝันไว้ ซึ่งสาขาวิชาความปลอดภัยการบิน ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม ก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจอันดับต้นๆ ที่สามารถจะพานักศึกษาหลายๆ คนไปถึงฝันได้
โดยสำหรับการเรียนนั้น ในช่วงชั้นปีที่ 1 จะเรียนเป็นการปูพื้นฐานทั่วไปเหมือนกับคณะอื่นๆ แต่จะเน้นเพิ่มเติมไปทางด้านคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับการบิน ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเด็กที่จบจากสายวิทย์เท่านั้น เพราะจะมีการปรับพื้นฐานเสริมให้เท่าๆ กันอยู่แล้ว ต่อมาในชั้นปีที่ 2 จะเพิ่มในส่วนของการระวังการเกิดอุบัติเหตุ และการสร้างความปลอดภัยทางการบิน เพื่อที่จะนำมาต่อยอดในชั้นปีที่ 3 ที่จะเน้นไปทางการสร้างอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นอุตุนิยมวิทยาการบิน หลักการบิน กฎหมายการบิน ระบบควบคุมจราจรทางอากาศ และความรู้เกี่ยวกับท่าอากาศยาน ก่อนที่จะนำไปเลือกประกอบอาชีพในชั้นปีที่ 4 โดยหากมีการตรวจร่างกายทางด้านจิตเวชผ่าน น้องก็สามารถจะเดินหน้าต่อในเส้นทางการเป็นนักบินได้
ทั้งนี้ จากผลการตรวจสอบของ ICAO (องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ International Civil Aviation Organization) เมื่อต้นปี 2558 ที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันการบินมีความบกพร่องในเรื่องการรักษาความปลอดภัย ในกิจการการบินพลเรือนของประเทศไทยรวม 576 ข้อ ซึ่งข้อบกพร่องเหล่านี้ ทางคณะสามารถที่จะผลิตนักศึกษาไปเสริม เพื่อแก้ไขให้การตรวจครั้งต่อๆ ไปราบรื่นจนสามารถปลดล็อคธงแดงได้
“ขอให้มีใจรักทางด้านการบินก่อน ถ้าเขามีใจรักแล้ว เขาก็จะซึบซับเนื้อหาทางด้านการบินที่เราจะป้อนให้เขา”
อาจารย์พีรภาชา ประชากุลิ
อาจารย์ประจำสาขาการจัดการความปลอดภัยการบิน
ส่วนโอกาสของงาน จะเห็นได้ว่าจากการเปิดสนามบินสุวรรณภูมิกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นที่แรก และที่เดียวที่เปิดการเรียนการสอนในคณะ สาขานี้ โดยจะแบ่งเป็น 3 สาขาวิชาที่จะได้เลือกในชั้นปีที่ 4 นั่นคือ นักบินพลเรือน ที่จะจบออกไปเป็นนักบินของสายการบินต่างๆ การบริหารความปลอดภัยสนามบิน และการบริหารความปลอดภัยการขนส่งทางอากาศ ฉะนั้น เมื่อจบการศึกษาไปแล้ว จึงสามารถรับรองได้ว่าจะสามารถเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรมการบินได้ เป็นเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยทางการบินในหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ทั้งท่าอากาศยาน สายการบิน หน่วยให้บริการทางเดินอากาศ หน่วยการที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัย รวมไปถึงเจ้าหน้าการขนส่งสินค้าทางอากาศ ทั้งในส่วนของราชการ และรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่เกี่ยวกับระบบการบินจะมีตำแหน่งด้านการรักษาความปลอดภัยรองรับอย่างแน่นอน
ท้ายที่สุดแล้ว “ความตั้งใจ” ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะพาทุกคนไปถึงที่เป้าหมายในชีวิตได้ เพียงแต่เราจะต้องใส่ใจ มุ่งมั่นที่จะเดินบนเส้นทาง (การบิน) และก้าวเดินอย่างไม่ย่อท้อ ไร้ซึ่งความประมาท ก็จะสามารถสร้าง “ความปลอดภัย” จนถึงฝั่งฝันได้ไม่ยาก