Master Degree

"แสตมฟอร์ด" ยกเครื่องโมเดลการศึกษาใหม่...เน้นไปที่ตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพป้อนตลาดงาน 4.0

          มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดมหาวิทยาลัยในเครือข่ายของมหาวิทยาลัยนานาชาติลอรีเอท (Laureate International Universities) เชื่อว่าการศึกษาที่เป็นสากลจะเป็นตัวช่วยให้คนสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ทั้งยังเป็นกำลังส่งเสริมในการขับเคลื่อน Thailand 4.0 ของประเทศไทย เหตุผลดังกล่าวจึงทำให้แสตมฟอร์ดสร้างโมเดลการศึกษา 4-I อีกทั้งยังเน้นการเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างบัณฑิตตอบโจทย์ตลาดแรงงานยุคใหม่

 
        จิลลส์ มาเฮ ซีอีโอเครือข่ายมหาวิทยาลัยนานาชาติลอรีเอท ประเทศไทย มองว่า นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของภาคการศึกษาในประเทศไทย ที่ต้องเคลื่อนย้ายจากการเรียนแบบ Passive Learning สู่ Active Learning ซึ่งตรงกับแนวทางการเรียนการสอนของแสตมฟอร์ดมาตั้งแต่ต้น เพราะเราเน้นให้นักศึกษาใช้การคิดวิเคราะห์ มีทักษะการแก้ไขปัญหา ใคร่รู้ อยากค้นคว้าด้วยตัวเองมากกว่าฟังบรรยาย 
ขณะเดียวกันแสตมฟอร์ดยังพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ให้คะแนนมหาวิทยาลัยของเราในระดับยอดเยี่ยมในการประเมินทุกระดับชั้น และทุกคณะ นอกจากนั้น คณะบริหารธุรกิจของเรายังได้การรับรองจาก International Assembly for Collegiate Business Education (IACBE) ซึ่งเป็นหน่วยงานพัฒนาด้านวิชาการ และความเป็นเลิศทางการศึกษาด้านธุรกิจ เป็นแห่งแรกของไทยอีกด้วย


          สิ่งที่ทำให้แสตมฟอร์ดแตกต่างจากมหาวิทยาลัยนานาชาติอื่นๆ ในประเทศไทย คือ ที่นี่มีความเป็นนานาชาติอย่างแท้จริง รวมถึงยังมีความร่วมมือในการสร้างหลักสูตรกับหน่วยงานทางด้านการศึกษาในทวีปยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้น เรายังเป็นเครือข่ายของกลุ่มมหาวิทยาลัยนานาชาติลอรีเอท ที่มีมหาวิทยาลัยในเครือกว่า 75 สถาบันใน 25 ประเทศทั่วโลก มีนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั่วโลกรวมกว่า 1 ล้านคน จึงทำให้เข้าถึงแหล่งทรัพยากรการเรียนการสอน และองค์ความรู้มาตรฐานสากลจากทั่วโลกได้ ล่าสุดลอรีเอทขยายตลาดการศึกษาเข้าไปในประเทศเมียนมา ด้วยการเปิดหลักสูตร MBA ภายใต้แบรนด์แสตมฟอร์ด โดยเราใช้คณาจารย์จากประเทศไทยเข้าไปทำการสอน นอกจากนั้น เรากำลังวางแผนที่จะบุกตลาดการศึกษาในประเทศเวียดนามเร็ว ๆ นี้อีกด้วย จิลลส์ มาเฮ อธิบายต่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นกลไกพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาของเราให้มีความโดดเด่น และมีข้อได้เปรียบในการประกอบอาชีพ โดยจากผลสำรวจการได้รับการจ้างงานบัณฑิตของเราในปีการศึกษา 2559 พบว่า 31% ได้รับการจ้างงานก่อนเรียนจบ และจากข้อมูลอ้างอิงอัตราเงินเดือนจากตลาดแรงงานปี 2559 ของธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า 71% ได้รับการจ้างงานด้วยอัตราเงินเดือนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด 44% ได้เงินเดือนสูงกว่า 50% ของอัตราเงินเดือนเฉลี่ยในตลาด และ 82% ได้งานภายใน 6 เดือน
 

          ทั้งนี้แสตมฟอร์ดไม่ได้มองเพียงแค่ประโยชน์ของนักศึกษา เรายังต้องการร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างสอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ด้วยการยกระดับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยใช้โมเดล 4-I ที่ประกอบด้วย International Perspective (มุมมองแบบนานาชาติ) Innovation (นวัตกรรม) Industry Linkage (การเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม) และ Integrity (ความรับผิดชอบต่อสังคม) โดยเรื่องนี้ ดร.แอนดรูว์ สกาวน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ขยายความว่า โมเดล 4-I จะช่วยส่งเสริมพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีความพร้อมต่อการขับเคลื่อนโมเดลไทยแลนด์ 4.0 เพราะจากสภาพแวดล้อมในมหาวิทยาลัยที่เป็นสากล ไม่ต่างจากการไปเรียนต่างประเทศ แต่ราคาถูกกว่าหลายเท่า และเราไม่ใช่แค่ทำการสอนด้วยภาษาอังกฤษ แต่ 70% ของคณาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนจากนานาประเทศ และ 40% ของนักศึกษาต่างชาติมาจาก 100 ประเทศทั่วโลก


          ด้านนวัตกรรมเราเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเรียนการสอนแบบผสมผสานทั้งในห้องเรียน และออนไลน์ด้วยระบบ Blackboard ซึ่งเป็นระบบการบริหารจัดการการเรียนรู้ออนไลน์ ที่ถูกพัฒนาจากสหรัฐอเมริกา ที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงสื่อการเรียนออนไลน์แบบมัลติมีเดียด้วยตนเองตลอดเวลา นอกจากการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนแพลตฟอร์มการเรียน เรายังใช้ในการออกแบบหลักสูตรด้วย ล่าสุดเราสร้างหลักสูตรบริหารธุรกิจสาขาการเป็นเจ้าของธุรกิจ, การจัดการข้อมูลอัจฉริยะทางธุรกิจ, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และศิลปศาสตร์สาขาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารนานาชาติ พร้อมเพิ่มทางเลือกแบบสองปริญญาในหลายสาขาวิชา อาทิ สาขาการจัดการการโรงแรมนานาชาติร่วมกับ Blue Mountains International Hotel Management School ประเทศออสเตรเลีย, สาขาการตลาดร่วมกับ Pace University ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา, สาขาการจัดการอีเวนต์ร่วมกับ Kendall College ที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกา และสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมกับ EU Business School ในยุโรป


          ดร.แอนดรูว์ สกาวน์ กล่าวต่อว่าในส่วนของการส่งเสริมศักยภาพการทำงานของนักศึกษา ก็เป็นส่วนสำคัญในโมเดล 4-I เพราะเราต้องการผลิตคนให้มีทักษะตามที่สถานประกอบการต้องการ เราจึงมุ่งสร้างพันธมิตรรับกับภาคอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ เพื่อร่วมออกแบบหลักสูตรที่เป็นปัจจุบัน และจะต้องตอบโจทย์ตลาดแรงงาน อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ แสตมฟอร์ดเซ็น MOU กับ L”Oreal ประเทศไทย ในด้าน Retail Excellence สำหรับสาขาการตลาด และการจัดการการค้าปลีก, Maybank Kim Eng สำหรับสาขาการเงินการธนาคาร และ Index Creative Village สำหรับคณะนิเทศศาสตร์ และการออกแบบ
 

          เรามองว่าการเป็นคนเก่งอย่างเดียว ไม่เพียงพอ เราจึงให้ความสำคัญกับการหล่อหลอมนักศึกษาให้มีคุณธรรม และคิดถึงประโยชน์ส่วนรวม เพื่อช่วยสร้างความก้าวหน้าให้กับประเทศต่อไป อันนี้เป็นสิ่งที่เราพยายามผลักดันนักศึกษาของเราให้ไปในแนวทางนี้ อันเป็นแนวทางที่จะทำให้มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดเชื่อมโยงกับโมเดลในการพัฒนาประเทศไทยของภาครัฐ โดยใช้กำลังคนที่มีศักยภาพมาตรฐานโลก เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่กลุ่มที่มีรายได้สูง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน


 

ข้อมูลจาก : Prachachat

 

รีวิวหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง

สาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม (Telecommunications Engineering) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

วิศวกรรมโทรคมนาคม เป็นวิชาการด้านวิศวกรรมที่เกิดจากการรวบรวมองค์ความรู้ทางวิศวกรรมไฟฟ้าและ ...

สาขาวิชาภาพยนตร์และดิจิทัล มีเดีย (Film and Digital Media) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

เป็นหลักสูตรที่เน้นทักษะกระบวนการ ซึ่งบูรณาการความรู้ทางด้านศิลปะ ...

สาขาวิชานิเทศศาสตร์เกษตร (Agricultural Communication) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทําให้ประชากรมีช่องทางในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ...