หน้าแรก ข่าวมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเอกชน

สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น มีทุนและโครงการแลกเปลี่ยนอะไรบ้าง?

วันที่เวลาโพส 21 มิถุนายน 66 17:20 น.
อ่านแล้ว 0
พี่อริส
เรียนที่ TNI มีโอกาสในการแลกเปลี่ยน เรียนต่อ ฝึกงาน และทำงานในประเทศญี่ปุ่น อาเซียนและประเทศอื่น ๆ

สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น หรือ TNI
เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่พร้อมสนับสนุนให้นักศึกษาในระดับปริญญาตรี ทั้งหลักสูตรปกติและหลักสูตรเทียบโอน และระดับปริญญาโท ทั้ง 3 คณะ ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งวิทยาลัยนานาชาติ มีโอกาสในการไปแลกเปลี่ยน เรียนต่อ ฝึกงาน และทำงานในประเทศญี่ปุ่น บางประเทศในอาเซียน และประเทศอื่นๆ กว่า 80 แห่ง ในรูปแบบการเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนระยะสั้นและระยะยาวกับมหาวิทยาลัยพันธมิตร (MOU) การเรียนภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นระยะสั้นและระยะยาวที่ประเทศญี่ปุ่น การเรียนภาษาอังกฤษระยะสั้นในประเทศฟิลิปปินส์และออสเตรเลีย การศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในมหาวิทยาลัยที่มี MOU กับสถาบัน การไปทัศนศึกษา หรือดูงานต่างประเทศ การฝึกงานที่บริษัทในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงเปิดโอกาสสู่การเข้าทำงานในบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นทั้งในไทยและในญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศอื่น ๆ หลังจบการศึกษาได้ทันที

ที่ผ่านมามีนักศึกษาของสถาบันไปโครงการแลกเปลี่ยนทั้งในญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ กว่า 2,154 คน
โดยมีทุนสนับสนุนให้กับนักศึกษา ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น
- ทุนการศึกษา ยกเว้นค่าเล่าเรียน 100 % / 75% / 50%
- ทุนสนับสนุนค่าที่พัก หรือค่าที่พักฟรี ในโครงการแลกเปลี่ยน
- ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น เช่น Sakura Science Program, JASSO, Maple และ ทุน MEXT เป็นต้น
- ทุนเรียนต่อปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น เช่น Kochi University of Technology, Muroran Institute of Technology, Tohoku University ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
- ทุนฝึกงาน ฝึกสหกิจ ในบริษัทที่ประเทศญี่ปุ่น และมีนักศึกษาต่างประเทศมาแลกเปลี่ยนกับสถาบันกว่า 1,721 คน


สำหรับมหาวิทยาลัยพันธมิตร (MOU) ของญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงอันต้น ๆ ที่เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยน อาทิ Osaka University, Tohoku University, Kyushu University, Chiba University, Hiroshima University, Sophia University, Meiji University, Hosei University, Kindai University, Kansai University เป็นต้น


นายกันต์ปพนธ์ เหลืองอร่าม นักศึกษา TNI ชั้นปีที่ 3 สาขาวิศวกรรมยานยนต์ (Automotive Engineering : AE) คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้เล่าถึงประสบการณ์การไปแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยโทโฮคุ ประเทศญี่ปุ่น ในโครงการ Junior Year Program in English (JYPE) พร้อมทุนสนับสนุน JASSO Scholarship เป็นระยะเวลา 1 เทอมการศึกษา ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 - 28 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า
       “คอร์สหลักของโครงการ คือ การไปทำโปรเจคงานวิจัยส่วนบุคคลในห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย ผมเลือกทำโปรเจคเกี่ยวกับ Solid-state battery ซึ่งได้บูรณาการความรู้ในด้านวิศวกรรมศาสตร์มาใช้ในการทำการวิจัย ผมได้รับความรู้ความเข้าใจใหม่ในเกี่ยวกับหลักการทางกลศาสตร์ ไฟฟ้าเคมี และเทคโนโลยีสำหรับแบตเตอรี่ในอนาคต นอกจากนี้ การใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่น ผมได้พัฒนาทักษะทางด้านภาษา ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น รวมถึงภาษาจีน เพราะว่าต้องอาศัยอยู่ร่วมกับนักศึกษาที่มาจากหลากหลายประเทศ ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของประเทศอื่น ๆ ผ่านทางเพื่อน ๆ ที่รู้จักกัน ในส่วนของชีวิตประจำวัน ผมค่อนข้างปรับตัวในหลาย ๆ ด้าน เนื่องจากช่วงเวลาที่ไปแลกเปลี่ยนเป็นฤดูหนาว ที่มีหิมะตก ทำให้ต้องฝึกใช้ชีวิตภายใต้ความกดดันทางสภาพอากาศแบบใหม่ แต่ก็ทำให้ได้ทำกิจกรรมแปลกใหม่ร่วมกับเพื่อนชาวต่างชาติ เช่น การปั้นตุ๊กตาหิมะ การเล่นสกี และการท่องเที่ยวตามเทศกาลฤดูหนาวในที่ต่าง ๆ ครับ”



นางสาวณัชชา หมั่นสุขแสง นักศึกษาทุน TNI World Class 100% สาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business: IB) คณะบริหารธุรกิจ หนึ่งในนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยโทโฮคุ ประเทศญี่ปุ่น ในโครงการ IPLA EXCHANGE PROGRAM (entrance Oct 2022) เป็นระยะเวลา 1 ปี พร้อมทุนสนับสนุน JASSO Scholarship ได้เล่าประสบการณ์การไปแลกเปลี่ยนในขณะนี้ว่า
       “โปรแกรมที่แยมมาแลกเปลี่ยนคือโปรแกรม IPLA (International Program in Liberal Arts) ที่ได้เจอเพื่อน ๆ ชาวต่างชาติจากหลากหลายประเทศ มีฝรั่งเศส, อิตาลี, เยอรมัน, จีน, ฮ่องกง, อังกฤษ, อเมริกา, แคนาดา, ฯลฯ และเพื่อนชาวญี่ปุ่นจากเซอร์เคิล IPLAnet (คล้ายชมรมของไทย) ที่จะเป็นหัวหน้าในการจัดกิจกรรมเพื่อกระชับมิตรคนในโปรแกรมด้วยกันเองโดยเฉพาะ ทำให้เราเริ่มหาเพื่อนจากที่นี่ได้ตั้งแต่มาถึง ในโปรแกรมจะใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารเป็นหลัก แต่สามารถฝึกคุยกับเพื่อนญี่ปุ่นในโปรแกรมเป็นภาษาญี่ปุ่นได้เหมือนกัน เพราะเขาจะมีบัดดี้ประจำตัวให้นักเรียน IPLA ทุกคน เพื่อช่วยซัพพอร์ตเรื่องการใช้ชีวิตในเซนไดหรือไปแฮงค์เอ้าท์ด้วยกันหลังเลิกเรียน การมีบัดดี้มันทำให้คนในโปรแกรม IPLA ค่อนข้างสนิทสนมกันง่าย เทียบกับโปรแกรมแลกเปลี่ยนอื่นอย่าง DEEP หรือ JYPE ที่ไม่มีระบบบัดดี้ส่วนตัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีเพื่อนข้ามโปรแกรมไม่ได้ เพราะยังมีกิจกรรมไปของทางหอพักและมหาวิทยาลัยจัดขึ้นเรื่อย ๆ อยู่ทุกเดือนค่ะ การมาแลกเปลี่ยนที่โทโฮคุไม่ได้มีแค่ความรู้อย่างเดียวที่เราต้องโฟกัส แต่ซอฟต์สกิลอื่น ๆ ก็จำเป็นเหมือนกันในการมาใช้ชีวิตเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนค่ะ อย่างการปรับตัว เพราะโปรแกรม IPLA เป็นโปรแกรมที่เน้นนักเรียนเหมือนเด็กในมหาวิทยาลัย ไม่มีการทำแลปส่วนตัวเพื่อส่งจบ และสามารถเลือกคลาสที่มีการสอนได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น ทำให้เราได้เจอเพื่อนต่างชาติ, ต่างอายุ, ต่างสาขาค่อนข้างเยอะ การทำงานกลุ่มจากคนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมและภาษา เป็นอะไรที่ใหม่มาก และต้องปรับตัวสูง เราจะค่อยๆ ชินกับสำเนียงภาษาและเข้าใจวิธีการคิดของคนแต่ละชาติ หรือแม้แต่การเมคเฟรน (make friend) ก็ต้องปรับตัว เพราะความชอบและงานอดิเรกที่ไม่เหมือนกันจากสังคมและภูมิประเทศ ทำให้ใช้เวลาสักพักกว่าที่เรากับเพื่อนจะจูนกันติด แต่สุดท้ายก็จะเจอคนที่เคมีตรงกัน หลังจากเจอกันบ่อย ๆ ค่ะ การออกไปเจอผู้คนเยอะๆ ก็สำคัญมากไม่แพ้เรื่องเรียนเลย” นอกเหนือจากนักศึกษาที่ไปแลกเปลี่ยนสามารถเลือกเรียนในวิชาที่ตนมีความสนใจแล้ว ยังได้ฝึกทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ผ่านกิจกรรมที่ทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้น
"



นายนัทธวัฒน์ สิมสวัสดิ์ และนางสาวกรปภา กรรณติมากร นักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติ (TNIC) สาขา Digital Engineering : DGE ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการไปแลกเปลี่ยนในโครงการ Summer training program 2023 ที่ National Institute of Technology (KOSEN), Kushiro College, Hokkaido โดยได้รับทุน JASSO ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม - 16 มิถุนายน 2566 ได้เล่าถึงกิจกรรมที่ได้ทำในระหว่างโครงการว่า
       "ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานทดแทนโดยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมและได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้วัฒนธรรมต่างๆ ของญี่ปุ่น เช่น การชงชา และการจัดดอกไม้ครับ" ส่วนนางสาวกรปภา กล่าวว่า "ได้เรียนรู้เกี่ยวกับ self-healing ของ SiC เรียนรู้การใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ได้ฝึกทักษะภาษาญี่ปุ่นให้ดีขึ้นโดยการคุยกับเพื่อนและคนท้องถิ่น ได้เข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมต่างๆของคนญี่ปุ่นด้วย ได้เห็นเมืองและการใช้ชีวิตของผู้คนที่นี่ว่าเหมือนหรือแตกต่างจากประเทศไทยอย่างไร และได้ทำความรู้จักกับผู้คนใหม่ ๆ ที่มาจากต่างที่มากมายเลยค่ะ”

หลังผ่านช่วงโควิด TNI ยังคงส่งเสริมและมอบโอกาสให้นักศึกษาของสถาบันสามารถไปญี่ปุ่นได้จริง (Go Japan) โดยผ่านโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น ไปฝึกงาน และ Internship ในญี่ปุ่น การไปศึกษาต่อในญี่ปุ่น หรือไปทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นทั้งในไทยและญี่ปุ่นด้วย เพราะ “TNI คือตัวจริงเรื่องญี่ปุ่น” พร้อมขยายฐานความร่วมมือไปยังประเทศต่างๆ ทั้งในอาเซียน อินเดีย บังคลาเทศและสหรัฐอเมริกาด้วย ภายใต้คอนเซ็ปต์ “แตกต่างด้วยภาษา ก้าวหน้าด้วยนวัตกรรม วัฒนธรรมที่หลากหลาย”


สอบถามข้อมูลทุนและโครงการแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมได้ที่ >>
https://www.tni.ac.th/home/exchange_programs

คนอื่นๆอ่านเรื่องนี้ แล้วมักจะอ่านเรื่องต่อไปนี้ต่อ

หมวด