Master Degree

ลาดกระบัง มุ่งหลักสูตร Online ตั้งเป้าอีก 5 ปี สู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งดิจิทัลเต็มตัว

          เทคโนโลยีในโลกยุคดิจิทัลนอกจากจะก้าวไปไกลแล้ว การปรับเปลี่ยนยังเกิดขึ้นรวดเร็วและส่งผลกระทบทั้งด้านลบและบวกในวงกว้าง อย่างในวงการศึกษาสถาบันการศึกษาจำนวนไม่น้อยถูก disrupt โดยเทคโนโลยี จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันการศึกษาต้องปรับตัวเอง เพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเสียเอง ด้วยการให้ความสำคัญกับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา
 


          การผนึกกำลังกันระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กลุ่มบริษัทจีเอเบิล (G-ABLE) และ หัวเว่ย (Huawei) ในการสร้างเทคโนโลยีระบบเครือข่าย ทั้งติดตั้งโครงข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วระดับ 100 จิกะบิต, WiFi 3,000 จุด, การพัฒนา Software-defined Network (SDN) และดาต้าคอนเทนเนอร์ (data container) สะท้อนให้เห็นถึงการยกระดับการเรียนการสอน ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด




ทำหลักสูตรออนไลน์เต็มตัว

          ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. กล่าวว่า ทางสถาบันฯ กำลังก้าวสู่ third generation ที่ทุกอย่างเป็น fully online และ super high techเพื่อสร้างการศึกษายุค 4.0 ปั้นคนรุ่นใหม่ให้สามารถสร้างเทคโนโลยีและแข่งขันในเวทีระดับโลกได้ ซึ่งการร่วมมือกับกลุ่มบริษัทจีเอเบิลและหัวเว่ยครั้งนี้จะตอบโจทย์ดังกล่าว อีกทั้งรองรับเป้าหมายของ สจล.ในการเป็นผู้นำสถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอาเซียน รวมถึงเป้าหมายใหม่คือการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล (digital university) ภายใน 5 ปี

 

          อย่างไรก็ดี เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด จึงมีแผนจัดทำแพลตฟอร์มการเรียนการสอนที่อาจารย์จากสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลกสามารถเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษาได้ตลอด รวมถึงจัดตั้งห้องปฏิบัติการ และสถาบันฝึกอบรมในขั้นต่อไป เพื่อผลิตบุคลากรคุณภาพที่มีทักษะและความสามารถด้านดิจิทัลป้อนตลาดแรงงาน


          ในอนาคต สจล.จะทำหลักสูตรออนไลน์เต็มรูปแบบ ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเรียนทางไกลจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่มีความร่วมมือกับ สจล. ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลักสูตรออนไลน์ของที่นี่จะเป็น interactive online คาดว่าปีหน้าจะเริ่มดำเนินโครงการ ซึ่งตรงนี้เป็นโจทย์ของ สจล. เพราะหากเป็นการเรียนออนไลน์รูปแบบเดิมไม่ต้องใช้เทคโนโลยีขนาดนี้ แต่ระบบเครือข่ายที่หัวเว่ยเข้ามาพัฒนานั้นช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ต่อไปใครก็สามารถมาเรียนกับเราได้ อีกทั้งจัดโปรแกรมหลักสูตร และช่วงเวลาเรียนตามความต้องการได้เลย



จัดเต็มครบ 4 โซลูชั่น

          ดร.จุมพต ภูริทัตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ให้รายละเอียดเกี่ยวกับโซลูชั่นว่า สจล.จะเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของไทย ซึ่งมีระบบโครงข่ายคอมพิวเตอร์ที่สามารถส่งถ่ายข้อมูลด้วยความเร็ว 100 จิกะบิตต่อวินาที ทำให้นักศึกษาสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สายและแบบต่อสายเพื่อการเรียนการสอนแบบสตรีมมิ่งออนไลน์ได้ในเวลาเดียวกันแบบไม่สะดุดรวมถึงอาจารย์สามารถนำเสนอสื่อมัลติมีเดียคุณภาพสูงเพื่อการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งยังมี SDN (Software-defined Network) ระบบเครือข่ายที่เชื่อมโยงทุกเครือข่ายในมหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งเดียวและรวมความเป็น data center เข้ากับcampus network เพื่อผู้ดูแลเครือข่ายสามารถใช้งานได้อย่างยืดหยุ่น และเอื้อต่อการขยายตัวของโครงข่ายในอนาคตซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่ของการพัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก


          อีกโซลูชั่นคือ educational cloud data center in container เป็นครั้งแรกของสถาบันการศึกษาในไทยที่นำอุปกรณ์การจัดเก็บข้อมูลทั้งหมดบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ที่เคลื่อนที่ได้ ซึ่งจะเป็นศูนย์ข้อมูลจัดเก็บแบบบูรณาการ (all-in-one) ที่ประหยัดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งมากกว่าแบบเดิมถึง 3 เท่า และติดตั้งได้เร็วกว่า 5 เท่า เพราะไม่จำเป็นต้องสร้างอาคารดาต้าเซ็นเตอร์ และเมื่อใส่อุปกรณ์ลงไปในตู้คอนเทนเนอร์ เสียบปลั๊ก ก็ใช้งานได้ทันที (plug-and-play) ไม่เพียงเท่านั้นยังได้ติดตั้งเครือข่ายWiFi ที่เชื่อมต่อได้ถึงระดับจิกะบิตต่อวินาที ครอบคลุมทั่วมหาวิทยาลัยถึง 3,000 จุด ทำให้คณาจารย์และนักเรียนสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ทุกที่ภายในมหาวิทยาลัย ส่งผลให้การเรียนรู้ไม่ติดขัดหรือสะดุด




เทคโนโลยีสร้างการเปลี่ยนแปลง

          ทางด้านกลุ่มบริษัทจีเอเบิลที่เป็น agent of digital transformation และเป็นพันธมิตรกับ สจล.มากว่า 20 ปี สุเทพ อุ่นเมตตาจิต กรรมการผู้จัดการมองว่า เทคโนโลยีเป็นแรงขับเคลื่อนกลยุทธ์และการทรานส์ฟอร์มองค์กรให้ไปได้เร็วมากขึ้น โดยเฉพาะกับวงการการศึกษาที่มีโจทย์สำคัญว่า จะนำเทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรมใหม่ได้อย่างไร หรือนำมาใช้เพื่อเชื่อมต่อประสบการณ์ของบุคลากรภายในสถาบันให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว


          ทีมผู้เชี่ยวชาญของเราได้พิจารณาองค์ประกอบต่างๆ ในการมองหาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์กับ สจล. ทั้งแนวโน้มของเทคโนโลยีใหม่ๆ ความคุ้มค่าในการลงทุน พร้อมร่วมกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกเทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงาน เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม มีความคล่องตัวและใช้เวลาในการติดตั้งเทคโนโลยีที่มีความกระชับ ซึ่งเทคโนโลยีของหัวเว่ยสามารถตอบโจทย์ได้ครบ จึงเป็นที่มาความร่วมมือกันในครั้งนี้


 

" สิ่งสำคัญที่สุดที่ สจล. หัวเว่ย และกลุ่มบริษัทจีเอเบิลมองเห็นตรงกันและมีจุดหมายร่วมกันคือเรื่อง Digital Transformation ปฏิวัติวงการการศึกษาไทยให้ไปสู่ยุคดิจิทัล "



 

ข้อมูลจาก : ประชาชาติธุรกิจ, g-able
 

รีวิวหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง

Ph.D (Communication Arts) ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์ (นานาชาติ) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

เริ่มต้นจากปี พ.ศ. 2514 ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้ก่อตั้ง ...

Ph.D. (Logistics and Supply Chain Management) ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยบูรพา

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ...

Ds.D. (Doctor of Music course) ดุริยางคศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันดนตรีที่สมบูรณ์แบบที่สุดแห่งแรกของประเทศไทย ...