Master Degree

กระทรวงวัฒนธรรม มอบรางวัล "ศิลปาธร" ให้กับ 7 ศิลปินร่วมสมัย ประจำปี 2560

          กระทรวงวัฒนธรรมประกาศรางวัลศิลปินร่วมสมัยดีเด่น รางวัล 'ศิลปาธร' ประจำปี 2560 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ มีทั้งสิ้น 7 สาขา มอบให้ศิลปินผู้ทำงานศิลปะร่วมสมัยรุ่นกลาง อายุระหว่าง 35-55 ปี ที่มีผลงานสร้างสรรค์ดีเด่นและเป็นที่ยอมรับในวงการศิลปะ โดยในปีนี้ทั้ง 7 ศิลปินได้รับการคัดสรรจากคณะกรรมการคัดสรรและคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยมาอย่างต่อเนื่อง


          นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การคัดสรรศิลปินรางวัลศิลปาธรเน้นผู้มีผลงานโดดเด่นทั้ง 7 สาขา และการสรรหามีคณะกรรมการผู้ทรงคุฒวุฒิดำเนินการพิจารณาอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ศิลปินที่ได้รับการยกย่องเชิดชูได้ภาคภูมิใจ มีกำลังใจ นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง และอาจได้รับการคัดเลือกเชิดชูเกียรติให้ได้เป็นศิลปินแห่งชาติในอนาคต


          ศิลปินศิลปาธร ประจำปี 2560 มีศิลปินดังและคนคุ้นเคยรับรางวัล สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่ คามิน เลิศชัยประเสริฐ ปัจจุบันอาศัยและสร้างสรรค์งาน ณ จ.เชียงใหม่ แสดงเดี่ยวครั้งแรกในปี 2529 “ชุดภาพถ่ายและภาพพิมพ์” ได้รับคัดเลือกผลงานดีเด่นของศิลปินรุ่นเยาว์ ต่อมาปี 2541 ได้ร่วมกับ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยที่โด่งดังระดับโลก ก่อตั้ง “โครงการที่นา” เป็นพื้นที่ทดลองดำรงชีพแบบพึ่งพาตนเอง และได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิที่นา ได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์จิตวิญญาณร่วมสมัยแห่งศตวรรษที่ 31 ที่เมืองคานาซาวา ประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะเปิดพิพิธภัณฑ์นี้ที่ จ.เชียงใหม่
 


คามิน เลิศชัยประเสริฐ ศิลปาธรสาขาทัศนศิลป์

 

          สาขาสถาปัตยกรรม อมตะ หลูไพบูลย์ ดีกรีสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง จุฬาลงกรณ์ฯ ปริญญาโทด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และปริญญาโทด้านการศึกษาการออกแบบในหัวข้อการพัฒนาเมืองในประเทศกำลังพัฒนา จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้รางวัลเหรียญทองพระราชทานสถาปัตยกรรมดีเด่นโครงการสำนักงานซันวัน จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี 2559 ได้รับรางวัลเหรียญทองพระราชทานสถาปัตยกรรมดีเด่น โครงการ The Commons จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ
 


ปราบดา หยุ่น ศิลปินศิลปาธรสาขาวรรณศิลป์

 


          ส่วนสาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ ปราบดา หยุ่น มีความสนใจด้านการอ่านและการเขียนตั้งแต่เด็ก มีประสบการณ์ทำนิตยสารครั้งแรกระหว่างเป็นนักเรียนเทพศิรินทร์ ก่อนศึกษาต่อในสหรัฐจบปริญญาตรีสาขาศิลปะ ที่มหาวิทยาลัย The Cooper Union งานเขียนที่โด่งดัง รวมเรื่องสั้น เมืองมุมฉาก ความน่าจะเป็น เรื่องนี้เกิดขึ้นจริง ฯลฯ เรื่องสั้นขนาดยาว แสงสลาย พาไรโดเลียรำลึก บทภาพยนตร์ เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล คำพิพากษาของมหาสมุทร และโรงแรมต่างดาว
 

          สาขาดนตรี ได้แก่ พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ศิลปินร่วมสมัยที่มีความโดดเด่นเป็นที่รู้จักและยอมรับในแวดวงดนตรี ด้วยความหลากหลายในผลงานสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่องกว่า 32 ปี เป็นทั้งนักดนตรี นักแต่งเพลง คอมโพสเซอร์ และโปรดิวเซอร์มากความสามารถที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการสร้างผลงานเพลงให้กับศิลปินชั้นนำเมืองไทยไว้มากมายนับร้อยเพลง ไม่เพียงแต่งานอัลบั้มเพลงเท่านั้น แต่ยังมีงานดนตรีประกอบภาพยนตร์ ดนตรีประกอบละคร ดนตรีประกอบสารคดี และดนตรีประกอบโฆษณา


สุวรรณดี จักราวรวุธ ผู้กำกับละครเวทีหญิงรับรางวัล 'ศิลปาธร'

 

          สาขาศิลปะการแสดง สุวรรณดี จักราวรวุธ จบปริญญาตรีจกคณะศิลปะศาสตร์ สาขาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มคลุกคลีกับละครเวทีตั้งแต่สมัยยังศึกษาอยู่ในงานละครของมหาวิทยาลัย จากนั้นได้เข้าร่วมงานละครเวทีกับคณะละครสองแปดรุ่นบุกเบิก ในฐานะนักแสดงและทีมกำกับเวทีจากเรื่อง “กาลิเลโอ” “อยากให้ชีวิตนี้ไม่มีเธอ” “ผู้มาเยือน” รวมถึงการร่วมงานกับ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล ในละครเวทีของมณเฑียรทองเธียเตอร์ และงานภาพยนตร์ต่างๆ
 

          สาขาศิลปะการออกแบบ ได้แก่ กรกต อารมย์ดี เกิดที่ จ.เพชรบุรี จบการศึกษามหาบัณฑิตจากสาขาศิลปะประยุกต์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

อุรุพงศ์ รักษาสัตย์
 

          สาขาภาพยนตร์และสื่อเคลื่อนไหว ได้แก่ อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ สนใจด้านการถ่ายและภาพยนตร์ตั้งแต่มัธยม เรียนต่อปริญญาตรีด้านภาพยนตร์และภาพถ่าย ที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ. และศึกษาเพิ่มเติมปริญญาโทด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ที่มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต หลังจากทำงานมาแล้วช่วงหนึ่ง งานกำกับภาพยนตร์เรื่องยาวได้รางวัลสุพรรณหงส์กำกับยอดเยี่ยม ถ่ายภาพยอดเยี่ยม เรื่องเล่าจากเมืองเหนือ รางวัล JJ Star จาก Joenju International Film Festival, Joenju
 

          ปราบดา หยุ่น กล่าวว่างานเขียนที่นำเสนอสู่ผู้อ่านจะสะท้อนความเป็นตัวตน ความรู้สึกนึกคิด และสะท้อนสภาพสังคม รวมถึงตระหนักว่าผู้อ่านจะได้ประโยชน์อะไรจากการอ่านเสมอ ตนสร้างสรรค์ผลงานมากว่า 20 ปีก็จะไม่หยุดพัฒนางานเขียนต้องค้นหาสิ่งใหม่ๆ สร้างงานที่ต่างจากเดิมมานำเสนอสิ่งที่ไม่ซ้ำ



พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา โปรดิวเซอร์คนเก่ง แนะนำงานเพลงให้กับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
 

          ด้านสุวรรณดี จักราวรวุธ ผู้กำกับละครเวทีหญิงแถวหน้า บอกว่า การแสดงเป็นศิลปะสาขาหนึ่งที่ใกล้ชิดจิตวิญญาณ เป็นการเล่าเรื่องราวของมนุษย์ งานละครช่วยสร้างวัฒนธรรมและจิตสำนึกที่ดีให้กับสังคม เพราะศิลปะคือความดีและความงาม จรรโลงจิตใจและอุ้มชูจิตวิญญาณ ทุกวันนี้ตนก็ยังไม่หยุดเรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ผ่านการทำงานร่วมกับคนละคร นักแสดง ช่วยสร้างแรงบันดาลใจผลิตผลงานใหม่ๆ ต่อไป


 

 " ศิลปาธร คือผู้ทรงไว้ซึ่งศิลปะ ทั้ง 7 ศิลปินศิลปากรเป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นแรงกระตุ้นให้ศิลปินรุ่นใหม่ตื่นตัวสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นที่ยอมรับ "





ข้อมูลจาก : ไทยโพสต์NationTV22

 

รีวิวหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง

บริหารธุรกิจ สาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด

หากใครที่กำลังมองสนใจและมองหาโอกาสในการเรียนรู้ด้านธุรกิจระหว่างประเทศ ...

บริหารธุรกิจ สาขาบริหารธุรกิจ กลุ่มวิชาการจัดการอีเว้นท์ มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด

ปัจจุบันอุตสาหกรรมการจัดงานอีเว้นท์ในประเทศไทยมีการพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ...

บัญชี สาขาบัญชี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

การเรียนบัญชีจากที่หลายคนๆ มองว่าคือการเรียนที่น่าเบื่อ ...