ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 และเร่งผลักดันโครงการอีอีซี จึงมีความต้องการบุคลากรด้านดิจิทัลจำนวนมาก หลายคนอาจมองว่าขาดแคลน แต่ผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ พบว่า
บุคลากรด้านนี้ไม่ได้ขาดแคลน แต่ขาดคนที่มีคุณภาพ
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุปีที่ผ่านมามีผู้จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาคอมพิวเตอร์เกือบ 20,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้ว่างงาน เกือบ 7,000 คน ขณะที่ความต้องการด้านดิจิทัลในภาคธุรกิจ มีประมาณ 14,000 คน ขณะเดียวกันพบว่า
จำนวนคนทำงานที่จบสาขาคอมพิวเตอร์ทั่วประเทศ มี 570,000 คน แต่ทำงานตรงสายอาชีพแค่ร้อยละ 15 อีกร้อยละ 81 ไม่ทำงานอาชีพ ICT และ ร้อยละ 3 ยังคงว่างงาน
นางสาวเสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาอาวุโส ทีดีอาร์ไอ ระบุว่างานวิจัยสะท้อนปัญหาขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพและสามารถทำงานได้จริง แม้แต่ละปีไทยมีการผลิตกำลังคนในปริมาณมาก โดยสาเหตุมาจาก
หลักสูตรสาขาคอมพิวเตอร์ไม่ทันสมัย และไม่ปรับให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง บางหลักสูตรไม่ได้บรรจุวิชาหลักที่จำเป็นต่อวิชาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
ทั้งนี้ เสนอว่า หากต้องการเพิ่มกำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อตอบสนองต่ออุตสาหกรรมเป้าหมายโครงการ อีอีซี ภาครัฐควรร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา
จัดโปรแกรมหรือหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), Big Data, Internet of Things ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน
รศ.ชิต เหล่าวัฒนา กรรมการคณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์หุ่นยนต์ กล่าวว่า เพื่อรองรับบุคลากรด้านดิจิทัลในพื้นที่อีอีซี รัฐบาลทำโครงการสัตหีบโมเดล พัฒนาหลักสูตรนักศึกษาอาชีวะในพื้นที่นำร่องประมาณ 6,000-7,000 คน โดยให้บริษัทเอกชนร่วมพัฒนาหลักสูตร สนับสนุนเครื่องมือ และรับเข้าทำงาน อัตราเงินเดือน 15,000-20,000 บาท เพื่อสร้างแรงจูงใจ
ที่มา :
news.thaipbs.or.th