เพราะ
"เกม" ก็เป็นเหมือนภาพยนตร์ ที่กว่าจะออกมาสู่สายตาผู้ชมได้ซักเรื่องหนึ่ง ก็ต้องผ่านกระบวนการทำงานที่ไม่ได้มีแค่นักแสดงบนหน้าจอเท่านั้น และบทความนี้เราจะชวนน้องๆ มาทำความรู้จักกับ
" 6 อาชีพเบื้องหลังในสายผู้ผลิตเกม" เพื่อให้น้องๆ ได้เห็นภาพรวมในด้านอื่นของวงการเกมกันมากขึ้น
1. อาชีพ Game designer
เป็นอาชีพที่มักถูกเข้าใจผิด เพราะชื่อว่าอาชีพนี้ต้องวาดรูปแน่นอน แต่จริงๆ แล้ว
เกมดีไซน์เนอร์ ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับการวาดรูปเลย คำว่าดีไซเนอร์นที่นี้หมายถึง การออกแบบกลไกของเกมทั้งหมด ตั้งแต่ วิธีการเล่น เรื่องราว ตัวละคร เหตุการณ์ อาวุธ ไอเท็ม ตลอดจนเสียงต่างๆ ในเกม โดยเป้าหมายของอาชีพนี้คือ ออกแบบเกมที่ผู้เล่นจะรู้สึกสนุก ท้าทาย และอยากเล่นต่อไปอีกเรื่อยๆ นั่นเอง
2. อาชีพ Game artist
ฝ่ายนี้คือส่วนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานวาดรูปและงาน art ต่างๆ โดยจะเป็นการรับหน้าที่ต่อจากเกมดีไซเนอร์ที่คิดและออกแบบไว้แล้วว่าตัวละครแต่ละตัว เครื่องมือแต่ละเครื่องมือ ฉากแต่ละฉากหรือของแต่ละชิ้นควรจะต้องมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร โดย artist จะแบ่งออกเป็น 2D artist ซึ่งก็คือ คนที่ร่างหรือวาดเป็นรูป (เรียกว่า concept art) กับ 3D artist (หรือ Modeler) จะเป็นคนที่นำ concept art ที่ได้ มาปั้นเป็นหุ่น model ในคอมพิวเตอร์ รวมถึงใส่ texture พื้นผิวต่างๆ ให้เสมือนจริงขึ้นมา จากนั้นเขาก็จะส่งต่อให้ตำแหน่งที่เรียกว่า Rigger ซึ่งจะใส่แกนกระดูกเพื่อเป็นแนวทางการเคลื่นไหวให้กับตัว model แต่ละตัว แล้วส่งต่อไปให้กับ animator คนที่จะทำให้ตัว model เคลื่อนไหวเป็นท่าทางต่างๆ ได้
3. อาชีพ Sound composer
เกมที่เราเล่นแล้วสนุกก็ต้องมีทั้งภาพที่น่าตื่นตาและเสียงที่น่าตื่นใจ sound composer จะเป็นคนที่รับหน้าที่เลือกสรรบทเพลงและเสียงประกอบให้เหมาะกับเหตุการณ์ ฉาก ตัวละคร การเคลื่อนไหวต่างๆ ในเกม
4. อาชีพ Game programmer
เป็นคนที่รับหน้าที่ใช้ตรรกะและคณิตศาสตร์มาสร้างให้เกมเป็นจริงขึ้นมาได้ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นคนที่ใส่สมองให้กับเกม เพราะเกมจะคิดได้ คิดเป็นว่า เมื่อผู้เล่นกดคำสั่งใดๆ แล้วจะต้องเกิดการเคลื่อนไหวอย่างไร เกิดเหตุการณ์อะไร ก็ต้องอาศัยโปรแกรมเมอร์ที่สร้างชุดคำสั่งเอาไว้ การทำงานของโปรแกรมเมอร์ด้านเกมก็จะเหมือนกับโปรแกรมเมอร์ด้านอื่นๆ ที่ต้องเริ่มจากการออกแบบชุดคำสั่ง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด จากนั้นเขียนโค้ด และทำการทดสอบเพื่อตรวจความถูกต้อง
5. อาชีพ Game Tester
การนั่งเล่นเกมคือภารกิจของคนทำงานนี้ แต่อย่าคิดว่าจะเป็นอาชีพที่สนุกได้เล่นเกมอย่างเดียวทั้งวัน ถึงแม้ว่าจะได้เล่นเกมแต่ก็จะไม่สนุกหรอก เพราะเกมที่ tester จะได้เล่นจะเป็นเกมที่ยังไม่สมบูรณ์ นั่นคือ จะมีการเจออาการ bug หรือการติดขัดหลายๆ อย่างตลอดการเล่นเกม เช่น ตัวละครค้าง ภาพหาย และอีกสารพันปัญหา ซึ่งเมื่อ tester เล่นเกมไปแล้วเจอปัญหา เขาก็จะต้องพยายามเล่นเพื่อให้เจอปัญหาแบบเดิมอีกครั้งให้ได้เพื่อพิสูจน์และยืนยันว่าจุดนี้คือจุดที่มีปัญหาจริงๆ จากนั้นจะต้องทำการเขียนรายงานส่งกลับไปให้ทีมโปรแกรมเมอร์แก้ไขจุดที่ผิดพลาด
6. อาชีพ Game producer และ Project manager
อาชีพ 2 อาชีพนี้จะเป็นอาชีพที่คอยดูภาพรวมการทำงาน คุมแผนงานให้เป็นไปตามกำหนด สร้างการประสานงานในทีมที่ดี สร้างขั้นตอนการทำงานที่ดี รวมถึงบริหารจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลา ให้ดีที่สุด เพราะบางเกมกว่าจะออกมาต้องใช้เวลาพัฒนาถึง 2-3 ปี นั่นหมายถึงเงินมหาศาลที่ต้องทุ่มลงไป
นอกจากทั้ง 6 อาชีพในส่วนของผู้ผลิตเกมที่เราได้นำเสนอไปด้านบน มีใครเล็งอาชีพไหนกันไว้บ้าง? แต่ถ้าหากน้องๆ ยังไม่มั่นใจ ก็อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจ เพราะอาชีพในสายเกมยังมีอีกหลากหลาย เช่น นักการตลาด เกมแคสเตอร์ Game Master Interactive Programmer และอาชีพอื่นๆ
ที่มา :
www.kotenarokgamer.com
a-chieve.org